บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

ประเภทของบทความ



ประเภทของบทความสามารถพิจารณาได้หลายลักษณะ แต่ในที่นี้จะจำแนกเป็น 10 ประเภทเพื่อเน้นไปที่การสอบ ก.พ. ดังนี้

1. บทความเชิงบรรยาย (Narrative Article)
บทความเชิงบรรยายเป็นบทความที่บรรยายประสบการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในลักษณะแปลกใหม่ ต้องบอกแก่ผู้อ่านเท่าที่ตนทราบ โดยบอกได้อย่างถูกต้อง ไม่น่าเบื่อ กล่าวคือการบรรยายให้ผู้อ่านสนใจ ประทับใจ เขียนให้เห็นจริงเห็นจัง โดยละเอียด ใช้ภาษาเรียบ ง่าย ไม่กำกวม ไม่วกวน

ในการเขียนโดยมากจะกล่าวถึงการใช้สรรพนามบุรุษที่หนึ่งหรือบุรุษที่สาม กล่าวคือถ้าเป็นการใช้สรรพนามบุรุษที่หนึ่ง จะเป็นการบรรยายประสบการณ์ในเหตุการณ์หนึ่งเหตุการณ์ใดของผู้เขียนที่บรรยายเป็นงานเขียนออกมา ถ้าเป็ฯการใช้สรรพนามบุรุษที่สาม จะเป็ฯการบรรยายถึงประสบการณ์ของบุคคลอื่นซึ่งเป็นใครก็ได้ที่ไม่ใช่ผู้เขียน

2. บทความเชิงแสดงบุคลิกภาพ (Personality Sketch Article)
บทความเชิงแสดงบุคลิกภาพ เป็นบทความที่มุ่งให้ผู้อ่านทราบคุณลักษณะบุลิกภาพของบุคคลที่ทำให้บุคคลนั้นมีชื่อเสียง สิ่งซึ่งทำให้บุคคลมีจุดเด่น น่าสนใจ การเขียนจะยึดหลักข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง และใช้ความคิดเห็นจากบุคคลอื่นประกอบ ทั้งต้องระลึกเสมอว่าไม่ใช่เป็นการเขียนชีวประวัติบุคคล

3. บทความเชิงสัมภาษณ์ (Interview Article)
บทความเชิงสัมภาษณ์เป็นบทความแสดงความคิดเห็นของบุคคลต่อปรากฏการณ์ใด โดยปกติบทความประเภทนี้มักจะมีคำถาม คำตอบสลักกับแกนรูปแบบการเขียนลักษษณะร้อยแก้ว เหมือนกับบทความประเภทอื่น ๆ อย่างก็ดีในการเขียนผู้เขียนควรแทรกเกร็ดของเรื่องหรือแต่ละประเด็ในบางตอนเพื่อขจัดความน่าเบื่อ

4. บทความเชิงสาธิตวิธีการ (How-to-do-it Article)
บทความเชิงสาธิตวิธีการเป็นบทความที่เขียนเพื่ออธิบายการกระทำตามขั้นตอนหรือกระบวนการอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยเริ่มตั้งแต่ต้นจนสิ้นสุดขั้นตอน หรือครบกระบวนการ เพื่ผู้อ่านอ่านจนสามารถนำไปปฏิบัติได้ การเขียนบทความประเภทนี้จะต้องเขียนให้รายละเอียดมากกว่าการเสนอเพียงข้อมูลเท่านั้น

5. บทความความเรียง (Essay Article)
บทความความเรียง เป็นบทความที่ค่อนข้างสั้น จะต้องจัดการลำดับข้อเท็จจริง การเสนอประเด็นที่จัดกุม เพราะมีประเด็นในการเขียนเพียงประเด็นเดียว  การเขียนบทความความเรียงนี้ จะแตกต่างกับการเขียนเรียงความธรรมดามาก

ดังนั้น ผลงานเขียนบทความประเภทนี้จะสะท้อนให้เห็นสมรรถนะหรือบุคลิกลักษณะการเขียนของผู้เขียนแต่ละคน เพราะว่า บทความเชิงความเรียงนี้ยังแยกตามวัตถุประสงค์การเขียนได้อีก 5 ลักษณะ คือ

5.1 บทความเพื่อให้ข่าวสาร (Information Article)        
บทความเพื่อให้ข่าวสารเป็นบทความที่มุ่งให้ข้อมูลเพิ่มเติมจากข่าว แต่การเขียนรูปแบบต่างกับการเขียนข่าว กล่าคือ เขียนตามเนื้อหาสาระตามลำดับที่ผู้เขียนต้องการให้ผู้อ่านได้ทราบ ดังนั้นบรรณาธิการ ไม่สามารถตัดข้อความในตอนท้ายของบทความออกได้

5.2 บทความเพื่อแสดงความเห็น (Opinion Article)
บทความเพื่อแสดงความเห็นเป็นบทความที่เสนอความคิดเห็นของผู้เขียนในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ด้วยเหตุผล และข้อเท็จจริงแก่ผู้อ่าน

ความคิดเห็นดังกล่าวจะต้องแปลกกว่าที่เคยมีมา และเป็ฯในทางสร้างสรรค์มีความเป็นไปได้ น่าสนใน แต่ต้องไม่ใช่ความคิดเห็นเป็นลักษณะโฆษณาชวนเชื่อ (propaganda) ประการสำคัญความคิดเห็นนั้นจะต้องมากจากการบูรณการของข้อเท็จจริง

5.3 บทความเพื่อการอธิบาย (Interpreted Article)
บทความเพื่อการอธิบายเป็นบทความที่มีลักษณะที่ใกล้เคียงกับบทความเพื่อการให้ข่าวสาร และบทความเพื่อแสดงควาเห็น

แต่มีความแตกต่างกันตรงที่ บทความเพื่อการอธิบายจะให้แง่มุมที่ลึกซึ้งกว่า โดยเฉพาะจะเป็ฯการตอบคำถามของคำถามเหล่านี้ คือ ใคร อะไร เมื่อไหร่ ที่ไหน ทำไม และอย่างไร ซึ่งจะเน้นตอบคำถามอย่างไรมากกว่า

5.4 บทความชวนขัน (Humorous Article)
บทความชวนขันเป็นบทความที่ค่อนข้างเขียนยากเพราะว่า การเขียนบทความชวนขัน ในที่นี้ไม่ใช่เป็นการเขียนมุขตลกขบขัน

แต่เป็นการเขียนจากข้อเท็จจริง โดยใช้ข้อมูลในบางเรื่อง อาจเป็นข้อเท็จจริงที่หนักสมองแต่นำมาเขียนให้ชวนขัน ซึ่งในขณะขบขันนั้นจะมีความรู้สึกบางอย่างขึ้นพร้อมกัน เช่น ขบขันทั้งน้ำตา

การเขียนบทความลักษณะนี้ จะเริ่มต้นจากการเขียนที่มีลีลาที่สุภาพเรื่อยไปจนกระทั่งมีบางตอนบางแห่งหรือหลายแห่งจะมีถ้อยคำหรือข้อความเป็นลักษณะหยิกแกมหยอก ยั่วยุ เสียดสี ฯลฯ โดยใช้คภชวนขัน

5.5 บทความกระตุ้นจิตสำนึก (Inspirational Article)
บทความกระตุ้นจิตสำนึกเป็นบทความที่ผู้เขียนมุ่งเสนอประสบการณ์ของตนเองหรือผู้อื่นเกี่ยวกับความเชื่อ ศาสนา การตัดสินใน ความมานะ พยายาม ความอดทน ความเจ็บป่วย ฯลฯ เพื่อกระตุ้นหรือปลุกระดมให้ผู้อ่านมีความสำนึกในบางเรื่องบางสถานการณ์

6. บทความเชิงโต้แย้ง (Controversial Article)
บทความเชิงโต้แย้งเป็นบทความที่มีประเด็นปัญหาที่แตกต่างกันในเชิงความคิด ผู้เขียนเสนอข้อเท็จจริงและเหตุผลให้มีความสมดุลระหว่างประเด็นที่แตกต่างกัน แล้วปล่อยให้ผู้อ่านได้พิจารณาตัดสินเอง

7. บทความเชิงวิจารณ์ (Critical Article)
บทความเชิงวิจารณ์เป็นบทความที่เกี่ยวกับวรรณกรรมหรือศิลปกรรม บทความประเภทนี้มี 2 ลักษณะ

ลักษณะแรก เป็นการเขียนแนะนำให้ทราบแม้จะมีการวิจารณ์ก็ไม่ค่อยจะรุนแรงมาก ส่วนอีกลักษณะเป็นการเขียนวิจารณ์ที่รุนแรงเพื่อวินิจฉัยคุณค่าของผลงานนั้นๆ

การวิจารณ์อาศัยหลักแลกฎเกณฑ์ทั้งทางทฤษฎีและเหตุผลข้อเท็จจริงเป็นหลัก เพื่อการประเมินคุณค่าอย่างเป็นธรรม

8. บทความเชิงวิเคราะห์ (Analytical Article)
บทความเชิงวิเคราะห์เป็นบทความที่มุ่งเสนอการวิเคราะห์เหตุการณ์ใดๆ โดยเน้นประเด็นสำคัญของเรื่อง ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีการประเมินคุณค่าเสมอไป

แต่ควรมีข้อเสนอที่ว่า สิ่งที่เกิดขณะนั้นจะนำไปสู่เหตุการณ์อะไรในอนาคตได้บ้าง ซึ่งการวิเคราะห์จะต้องมีความสมเหตุสมผลในการเขียน นอกจากนั้นอาจสรุปเป็นแนวคิดแก่ผู้อ่านก็ได้

9. บทความเชิงสารคดี (Feature Article)
บทความเชิงสารคดีเป็นบทความที่เขียนแบบสารคดีมีการวิเคราะห์วิจารณ์ควบคู่กันไป ทำให้มีสาระมากกว่าบันเทิง กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การเอาข้อเท็จจริงที่มีสารมาเขียนในรูปแบบของสารคดีนั่นเอง

10. บทความเชิงวิชาการ (Academic Article)
บทความเชิงวิชาการเป็นบทความที่มุ่งเสนอความรู้เรื่องใด เรื่องหนึ่งโดยตรง ได้ แก่ รายงานทางวิชาการ รายผลการวิจัย รายงานการประชุมเชิงวิชาการเป็นต้น

บทความประเภทนี้มีการเสนอสาระอย่างตรงไปตรงมา แต่บางครั้งอาจมีการอธิบายเพิ่มเติมเพื่อความกระจ่างแก่ผู้อ่านในบางส่วนเท่าที่จำเป็นก็ได้

จากที่กล่าวมาข้างต้นเป็นการจำแนกประเภทของบทความในแนวหนึ่ง ซึ่งตำราบางเล่มอาจแบ่งประเภทของบทความที่แตกต่างไปจากนี้

เช่น เจือ สตะเวทิน แบ่งไว้ 2 ประเภท คือบทความทางการเมืองและบทความเชิงความรู้ นอกจากนั้น วาสนา เกตุภาค ได้แบ่งเป็น 2 ประเภท เช่นกัน คือ บทความทางวิชาการ และบทความทั่วไป เป็นต้น

ที่มา : http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=commuram&month=14-08-2008&group=15&gblog=5

การปรับสำนวนภาษา

ในการเขียนบทความวิชาการนั้น สำนวนภาษาของบทความต้องเป็นของเราทั้งหมด  ยกเว้นการที่เอานำข้อมูลที่บุคคลอื่นมาทุกตัวอักษร ซึ่งจะได้กล่าวถึงในบทความต่อไป

ดังนั้น ถึงแม้ว่า เราจะนำข้อมูลของบุคคลอื่นมา เราก็ต้องเขียนให้เป็นสำนวนภาษาของเราเอง และเป็นสำนวนภาษาที่เป็นวิชาการด้วย

ต้องเข้าใจกันก่อนว่า ระดับของภาษาไทยที่ใช้กันอยู่ มี 5 ระดับ ดังนี้

1) ภาษาระดับพิธีการใช้ในกาลเทศะที่มีพิธีการ เช่น การเปิดงานต่าง ๆ การกล่าวสุนทรพจน์ในโอกาสต่าง ๆ ผู้ส่งสารมักเป็นผู้มีตำแหน่งสูง ในวงการนั้น ๆ ผู้รับสารเป็นบุคคลในวงการเดียวกันหรือเป็นกลุ่มชนใหญ่ อาจเป็นประชาชนทั้งประเทศ ลักษณะภาษาจะเป็นถ้อยคำที่สรรมาอย่างไพเราะ ก่อให้เกิดความจรรโลงใจ จะมักเตรียมเป็นวาทนิพนธ์ และใช้วิธีอ่านต่อที่ประชุม

2) ภาษาระดับทางการใช้ในการบรรยาย การอภิปราย หรือการเขียนข้อความที่เสนอต่อสาธารณชนอย่างเป็นทางการ ผู้ส่งสารและผู้รับสารอยู่ในวงการเดียวกัน ติดต่อกันด้วยเรื่องธุรกิจและการงาน การใช้ถ้อยคำจึงต้องกระชับ ชัดเจน สุภาพ อาจมีศัพท์วิชาการเฉพาะด้านอยู่ด้วย

3) ภาษาระดับกึ่งทางการใช้ในการประชุมกลุ่ม การอภิปรายกลุ่ม การบรรยายในชั้นเรียน ข่าวและบทความที่เผยแพร่ทางสื่อมวลชน เนื้อหาเป็นความรู้ทั่วไป การแสดงความคิดเห็นเชิงวิชาการเกี่ยวกับการดำรงชีวิต เกี่ยวกับธุรกิจ ใช้ศัพท์ทางวิชาการเท่าที่จำเป็น

4) ภาษาระดับสนทนาใช้ในการสนทนาของบุคคลกลุ่มเล็ก ๆ ในกาลเทศะที่ไม่เป็นการส่วนตัว เนื้อหาเป็นเรื่องทั่ว ๆ ไปในชีวิตประจำวัน กิจธุระต่าง ๆ การปรึกษาหารือกัน การเขียนจดหมายถึงเพื่อน ข่าวและบทความที่เสนอผ่านสื่อมวลชน

5) ภาษาระดับกันเองใช้ในการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ที่มีสัมพันธภาพใกล้ชิดกัน มาก ใช้ในกาลเทศะที่เป็นการส่วนตัว ไม่นิยมบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร นอกจากในนวนิยายหรือเรื่องสั้นบางตอนเพื่อให้สมจริงอาจมีคำคะนองและภาษาถิ่นปนอยู่
ระดับภาษาทางการและระดับภาษากึ่งทางการ คือ ภาษาวิชาการที่เราจะนำมาเขียนบทความของเรา

เมื่อเราไปอ่านข้อมูลมามากแล้ว เห็นว่าจะนำมาใช้ในเนื้อหาบทความของเราได้  เราจะต้องนำมาปรับปรุงให้เป็นสำนวนภาษาของเรา ดังนี้

ตัวอย่างนี้ นำมาจากบทความของนักศึกษากลุ่มพลูโต สาขาฟิสิกส์ประยุกต์

โครงสร้างของดาวพลูโต
จากการคำนวณเส้นผ่านศูนย์กลางของดาวพลูโต จะมีความยาวประมาณ 2,284 กิโลเมตร และมีมวลเท่ากับ 0.17 ของมวลของโลก ใช้เวลาในการหมุนรอบ ดวงอาทิตย์ ประมาณ 248ปี และหมุนรอบตัวเองประมาณ 6 วัน 9 ชั่วโมงของโลก มีดวงจันทร์เป็นบริวาร 1 ดวงชื่อ ชารอน (Charon) อยู่ใกล้ดาวพลูโตประมาณ 19,640 กิโลเมตร ค้นพบโดย นักดาราศาสตร์ชาวอเมริกัน ชื่อ จิม คริสตี (Jim Crysty) เมื่อปี ค.ศ. 1978 ดวงจันทร์ชารอน มีขนาดเส้น ผ่านศูนย์กลาง 1,192 กิโลเมตร ซึ่งเกินกว่าครึ่งของเส้นผ่านศูนย์กลางของดาวพลูโตเพียงเล็กน้อย จึงอาจได้ชื่อว่าเป็นดาวเคราะห์คู่ เช่นเดียวกับที่โลกคู่กับดวงจันทร์ (ดาวพลูโต : ออนไลน์)

สมมุติว่า ผมเป็นเขียนบทความ ผมจะเขียนทำนองนี้

โครงสร้างของดาวพลูโต
ดาวพลูโตมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2,284 กิโลเมตร มีมวลเท่ากับ 0.17 ของมวลโลก ดาวพลูโตใช้เวลาประมาณ 248 ปี จึงจะหมุนรอบดวงอาทิตย์ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับโลกแล้ว โลกใช้เวลาเพียง 1 ปีในการหมุนรอบดวงอาทิตย์
ดาวพลูโตหมุนรอบตัวเองใช้เวลาประมาณ 6 วัน 9 ชั่วโมง ส่วนโลกของเราใช้เวลาหมุนรอบตัวเองเพียง 1 วัน
ดาวพลูโตกับโลกมีดวงจันทร์เป็นบริวารเท่ากันคือ 1 ดวง ดวงจันทร์ของดาวพลูโต ชื่อ ชารอน (Charon) ดาวชารอนอยู่ห่างจากดาวพลูโตประมาณ 19,640 กิโลเมตร เมื่อเปรียบเทียบกับระยะห่างระหว่างดวงจันทร์กับโลกที่มีค่าประมาณ 384,403 กิโลเมตร นับได้ว่า ดาวชารอนอยู่ใกล้กับดาวพลูโตมาก
ดาวชารอนมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1,192 กิโลเมตร เกินกว่าครึ่งของเส้นผ่านศูนย์กลางของดาวพลูโตเพียงเล็กน้อย ดาวคู่นี้ จึงอาจได้ชื่อว่าเป็นดาวเคราะห์คู่ เช่นเดียวกับที่โลกคู่กับดวงจันทร์ (ดาวพลูโต : ออนไลน์)

สำหรับท่านผู้อ่านอื่นๆ ก็ลองปรับสำนวนภาษาให้เป็นของท่านเองตามสะดวก .............................


อ่านตรงนี้ก่อน

บทความนี้ เน้นการเขียนไปที่การเขียนบทความเชิงวิชาการสำหรับนักศึกษาที่เรียนรายวิชาภาษาไทย 1 และภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร

อย่างไรก็ดี  เพื่อนครูอาจารย์ที่ต้องการหัดเขียนบทความก็สามารถเรียนรู้จากบทความชุดนี้ได้

บทความเป็นงานเขียนเชิงวิชาการประเภทหนึ่ง ซึ่งมีเนื้อหาไม่มากนัก ต้องการที่จะนำเสนอ “แนวคิด” ที่เฉพาะเจาะจง

การที่เราจะเขียน “อะไร” ออกมาได้นั้น  เราจะต้อง “รู้” และ “เข้าใจ” ในสิ่งที่เราจะเขียนให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

การเป็นนักศึกษาที่ถูกบังคับให้เขียนบทความวิชาการตามหลักสูตรที่กำหนดไว้ ผมจึงกำหนดขอบเขตไว้ว่า “ต้องเป็นบทความที่มีเนื้อหาอยู่ในขอบข่ายของสาขาที่นักศึกษาเรียนอยู่”

ถึงแม้จะต้องเขียนบทความที่นักศึกษา “รู้” อยู่พอสมควรแล้ว แต่ก็ยังไม่เป็นการเพียงพอ นักศึกษาจะต้องอ่านเพื่อหา “ข้อมูล” ที่เกี่ยวกับเรื่องจะเขียนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ผมกำหนดให้นักศึกษาจะต้องมีบรรณานุกรมอย่างน้อย 20 เล่ม  นักศึกษาก็ควรจะอ่านเอกสารต่างๆ อย่างน้อย 40 เล่มขึ้นไป

เมื่อได้ข้อมูลที่ต้องการแล้ว นักศึกษาก็ควรบันทึกข้อมูลให้เป็นระเบียบ ครบถ้วน เมื่อนำไปใช้ในการเขียนบทความแล้ว  สามารถจะที่เขียนเชิงอรรถอ้างอิงได้อย่างถูกต้อง

นอกจากนั้นแล้ว ก็ควรจะมีเชิงอรรถโยงความ และเชิงอรรถขยายความบ้าง  เพราะ การที่บทความของเรามีเชิงอรรถครบทั้ง 3 ประเภท เป็นการแสดงให้ผู้อ่านทราบว่า นักศึกษามีองค์ความรู้ในการเขียนบทความที่ดี ซึ่งควรจะได้คะแนนในระดับสูงด้วย

ในบทความต่อๆ ไป  ผมจะแนะนำการเขียนบทนำ เนื้อหา สรุป พร้อมทั้งยกตัวอย่างประกอบคำอธิบาย  เพื่อที่ว่า ผู้อ่านสามารถนำไปใช้ในการเขียนบทความของท่านทั้งหลายได้เลย