บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

การปรับสำนวนภาษา

ในการเขียนบทความวิชาการนั้น สำนวนภาษาของบทความต้องเป็นของเราทั้งหมด  ยกเว้นการที่เอานำข้อมูลที่บุคคลอื่นมาทุกตัวอักษร ซึ่งจะได้กล่าวถึงในบทความต่อไป

ดังนั้น ถึงแม้ว่า เราจะนำข้อมูลของบุคคลอื่นมา เราก็ต้องเขียนให้เป็นสำนวนภาษาของเราเอง และเป็นสำนวนภาษาที่เป็นวิชาการด้วย

ต้องเข้าใจกันก่อนว่า ระดับของภาษาไทยที่ใช้กันอยู่ มี 5 ระดับ ดังนี้

1) ภาษาระดับพิธีการใช้ในกาลเทศะที่มีพิธีการ เช่น การเปิดงานต่าง ๆ การกล่าวสุนทรพจน์ในโอกาสต่าง ๆ ผู้ส่งสารมักเป็นผู้มีตำแหน่งสูง ในวงการนั้น ๆ ผู้รับสารเป็นบุคคลในวงการเดียวกันหรือเป็นกลุ่มชนใหญ่ อาจเป็นประชาชนทั้งประเทศ ลักษณะภาษาจะเป็นถ้อยคำที่สรรมาอย่างไพเราะ ก่อให้เกิดความจรรโลงใจ จะมักเตรียมเป็นวาทนิพนธ์ และใช้วิธีอ่านต่อที่ประชุม

2) ภาษาระดับทางการใช้ในการบรรยาย การอภิปราย หรือการเขียนข้อความที่เสนอต่อสาธารณชนอย่างเป็นทางการ ผู้ส่งสารและผู้รับสารอยู่ในวงการเดียวกัน ติดต่อกันด้วยเรื่องธุรกิจและการงาน การใช้ถ้อยคำจึงต้องกระชับ ชัดเจน สุภาพ อาจมีศัพท์วิชาการเฉพาะด้านอยู่ด้วย

3) ภาษาระดับกึ่งทางการใช้ในการประชุมกลุ่ม การอภิปรายกลุ่ม การบรรยายในชั้นเรียน ข่าวและบทความที่เผยแพร่ทางสื่อมวลชน เนื้อหาเป็นความรู้ทั่วไป การแสดงความคิดเห็นเชิงวิชาการเกี่ยวกับการดำรงชีวิต เกี่ยวกับธุรกิจ ใช้ศัพท์ทางวิชาการเท่าที่จำเป็น

4) ภาษาระดับสนทนาใช้ในการสนทนาของบุคคลกลุ่มเล็ก ๆ ในกาลเทศะที่ไม่เป็นการส่วนตัว เนื้อหาเป็นเรื่องทั่ว ๆ ไปในชีวิตประจำวัน กิจธุระต่าง ๆ การปรึกษาหารือกัน การเขียนจดหมายถึงเพื่อน ข่าวและบทความที่เสนอผ่านสื่อมวลชน

5) ภาษาระดับกันเองใช้ในการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ที่มีสัมพันธภาพใกล้ชิดกัน มาก ใช้ในกาลเทศะที่เป็นการส่วนตัว ไม่นิยมบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร นอกจากในนวนิยายหรือเรื่องสั้นบางตอนเพื่อให้สมจริงอาจมีคำคะนองและภาษาถิ่นปนอยู่
ระดับภาษาทางการและระดับภาษากึ่งทางการ คือ ภาษาวิชาการที่เราจะนำมาเขียนบทความของเรา

เมื่อเราไปอ่านข้อมูลมามากแล้ว เห็นว่าจะนำมาใช้ในเนื้อหาบทความของเราได้  เราจะต้องนำมาปรับปรุงให้เป็นสำนวนภาษาของเรา ดังนี้

ตัวอย่างนี้ นำมาจากบทความของนักศึกษากลุ่มพลูโต สาขาฟิสิกส์ประยุกต์

โครงสร้างของดาวพลูโต
จากการคำนวณเส้นผ่านศูนย์กลางของดาวพลูโต จะมีความยาวประมาณ 2,284 กิโลเมตร และมีมวลเท่ากับ 0.17 ของมวลของโลก ใช้เวลาในการหมุนรอบ ดวงอาทิตย์ ประมาณ 248ปี และหมุนรอบตัวเองประมาณ 6 วัน 9 ชั่วโมงของโลก มีดวงจันทร์เป็นบริวาร 1 ดวงชื่อ ชารอน (Charon) อยู่ใกล้ดาวพลูโตประมาณ 19,640 กิโลเมตร ค้นพบโดย นักดาราศาสตร์ชาวอเมริกัน ชื่อ จิม คริสตี (Jim Crysty) เมื่อปี ค.ศ. 1978 ดวงจันทร์ชารอน มีขนาดเส้น ผ่านศูนย์กลาง 1,192 กิโลเมตร ซึ่งเกินกว่าครึ่งของเส้นผ่านศูนย์กลางของดาวพลูโตเพียงเล็กน้อย จึงอาจได้ชื่อว่าเป็นดาวเคราะห์คู่ เช่นเดียวกับที่โลกคู่กับดวงจันทร์ (ดาวพลูโต : ออนไลน์)

สมมุติว่า ผมเป็นเขียนบทความ ผมจะเขียนทำนองนี้

โครงสร้างของดาวพลูโต
ดาวพลูโตมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2,284 กิโลเมตร มีมวลเท่ากับ 0.17 ของมวลโลก ดาวพลูโตใช้เวลาประมาณ 248 ปี จึงจะหมุนรอบดวงอาทิตย์ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับโลกแล้ว โลกใช้เวลาเพียง 1 ปีในการหมุนรอบดวงอาทิตย์
ดาวพลูโตหมุนรอบตัวเองใช้เวลาประมาณ 6 วัน 9 ชั่วโมง ส่วนโลกของเราใช้เวลาหมุนรอบตัวเองเพียง 1 วัน
ดาวพลูโตกับโลกมีดวงจันทร์เป็นบริวารเท่ากันคือ 1 ดวง ดวงจันทร์ของดาวพลูโต ชื่อ ชารอน (Charon) ดาวชารอนอยู่ห่างจากดาวพลูโตประมาณ 19,640 กิโลเมตร เมื่อเปรียบเทียบกับระยะห่างระหว่างดวงจันทร์กับโลกที่มีค่าประมาณ 384,403 กิโลเมตร นับได้ว่า ดาวชารอนอยู่ใกล้กับดาวพลูโตมาก
ดาวชารอนมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1,192 กิโลเมตร เกินกว่าครึ่งของเส้นผ่านศูนย์กลางของดาวพลูโตเพียงเล็กน้อย ดาวคู่นี้ จึงอาจได้ชื่อว่าเป็นดาวเคราะห์คู่ เช่นเดียวกับที่โลกคู่กับดวงจันทร์ (ดาวพลูโต : ออนไลน์)

สำหรับท่านผู้อ่านอื่นๆ ก็ลองปรับสำนวนภาษาให้เป็นของท่านเองตามสะดวก .............................


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น